ความเป็นมาของมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์

  ความจริง ชื่อโรงพยาบาลสงฆ์ เป็นชื่อที่คุ้นหู และมีผู้รู้จักมานานปีแล้ว แต่ชื่อของมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ ยังเป็นชื่อที่ใหม่อยู่ แม้มูลนิธินี้จะก่อตั้งขึ้นในโรงพยาบาลสงฆ์เป็นเวลานานจะครบ ๑๐ ปี ในวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ก็ตาม

- มูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ คืออะไร

- เหตุไร จึงตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ซ้อนขึ้นในโรงพยาบาลสงฆ์อีก ?

- และการที่ตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ขึ้น มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานอย่างไร

เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นปัญหาชวนให้ผู้ที่มีความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับโรงพยาบาลสงฆ์มีความสงสัย และใคร่จะทราบโดยถ่องแท้ทั่วกัน

มูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์คือ

     สถานบันตั้งขึ้นเพื่อจัดการผลประโยชน์ด้านทรัพย์สินต่างๆ ที่มีผู้บริจาคให้สำหรับบำรุงพระสงฆ์ สามเณรอาพาธ ในโรงพยาบาลสงฆ์ โดยมูลนิธิแห่งนี้ ทำหน้าที่รับและจัดการให้เป็นไปตามเจตนาอุทิศของผู้บริจาค นอกจากนั้น ยังทำหน้าที่ควบคุมดูแล และบริหารเพื่อให้เกิดผลประโยชน์เพิ่มเติมขึ้นแก่ทรัพย์สินนั้น ๆ อย่างเต็มที่ รวมทั้งพยายามใช้จ่ายผลประโยชน์จากทรัพย์สินตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค และของมูลนิธิทุกประการ

การตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ขึ้นในโรงพยาบาลสงฆ์

     ถ้าคิดเพียงผิวเผิน น่าจะเห็นว่าเป็นการตั้งขึ้นเพื่อซ้อนงานโรงพยาบาลสงฆ์ แต่หากได้พิจารณาโดยแยบคาย ก็จะเห็นได้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการดำเนินงานแตกต่างกัน แต่มีการประสานงานเพื่อให้ถึงจุดมุ่งหมายในทางเดียวกัน คือโรงพยาบาลสงฆ์มีหน้าที่ด้านบำบัดโรคพระสงฆ์ สามเณรอาพาธ มูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์มีหน้าที่ช่วยเป็นกำลังเสริม คือ ทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับด้านการเงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค แล้วช่วยเหลือโรงพยาบาลสงฆ์ในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการบำบัดโรคพระสงฆ์ สามเณรอาพาธ ตามความจำเป็นเต็มความต้องการ อันสามารถที่จะกระทำได้อย่างกว้างขวางดีกว่า และคล่องตัวกว่าโรงพยาบาลสงฆ์ซึ่งมีสภาพเป็นหน่วยราชการจะทำได้

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์

     การตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ขึ้นนั้น ได้แสดงวัตถุประสงค์อย่างชัดแจ้งดังปรากฏในตราสารของมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๑๒) ดังนี้

๑. เพื่อสงเคราะห์โรงพยาบาลสงฆ์

๒. เพื่อส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรปราศจากโรค

๓. เพื่อสงเสริมการศึกษาและการวิจัยทางแพทย์

๔. เพื่อช่วยเหลือสถาบันอื่นที่ดำเนินการป้องกันหรือบำบัดโรคแก่พระภิกษุสงฆ์สามเณรอาพาธ

๕. เพื่อกระทำการอื่นอันจะเป็นทางบรรลุถึงวัตถุประสงค์ดังกล่าวข่างต้น ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

     ที่ได้กล่าวมานี้ เป็นเพียงการแนะนำเพื่อได้รู้จักกับมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์โดยย่อ แต่เรื่องการที่มีความจำเป็นต้องตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ขึ้นนั้น เกิดจากสาเหตุหลายประการด้วยกัน ซึ่งสมควรชี้แจงในโอกาสนี้ได้ ดังต่อไปนี้

     นับแต่ได้ก่อสร้างโรงพยาบาลสงฆ์ขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ และได้เปิดดำเนินงานโรงพยาบาลในต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ ก็ได้มีผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายได้บริจาคเงินและทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งรวมทั้งที่ดิน อาคาร และบ้านเรือนเป็นต้น ให้โรงพยาบาลสงฆ์ สำหรับใช้จ่ายและได้มีผลประโยชน์ประจำ เพื่อบำรุงโรงพยาบาล โดยมุ่งที่จะถวายความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่พระสงฆ์ สามเณรอาพาธ เป็นที่ตั้ง ดังที่ได้กล่าวแล้ว และจากการที่โรงพยาบาลสงฆ์ได้พยายามใช้จ่ายเงินที่มีผู้บริจาคโดยความประหยัด และตามความจำเป็น ตลอดจนได้จัดผลประโยชน์ในทรัพย์สินนั้น ๆ สนองความศรัทธาตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ต้นมา จึงทำให้ผู้บริจาคแล้วเกิดความชื่นชมโสมนัส และเพิ่มความศรัทธาต่อโรงพยาบาลสงฆ์โดยไม่เสื่อมคลาย นอกจากนั้น เมื่อมีผู้ที่ได้ทราบเรื่องการดำเนินงานด้านต่างๆ ของโรงพยาบาลสงฆ์แล้วเกิดความนิยม จึงได้บริจาคบำรุงโรงพยาบาลเป็นจำนวนเงินและทรัพย์สินต่างๆ เพิ่มขึ้นโดยลำดับ

      ฉะนั้น นับแต่เริ่มการก่อสร้างโรงพยาบาลสงฆ์ และดำเนินงานโรงพยาบาลมาจนถึงสิ้นปี พ.ศ.๒๕๐๖ ก็มีเงินบำรุงโรงพยาบาล (คือเงินทุนต่างๆ และเงินสะสมที่เหลือจากค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นแล้ว) จำนวนถึง ๑๕,๖๖๖,๑๙๒.๑๒ บาท (สิบห้าล้านหกแสนหกหมื่นหกพันหนึ่งร้อยเก้าสิบสองบาทสิบสองสตางค์) และมีที่ดินที่มีผู้บริจาคให้โรงพยาบาล ทั้งในส่วนกลางและทั้งในส่วนภูมิภาค เพื่อได้เก็บผลประโยชน์บำรุงสงฆ์ สามเณรอาพาธ รวมทั้งสิ้น ๓๙ แห่ง เป็นเนื้อที่ ๒,๓๘๔ ไร่ ๙๙ ๑/๒ ตารางวา แต่เนื่องจากโรงพยาบาลสงฆ์มีสภาพเป็นหน่วยราชการเพียงระดับกอง สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ฉะนั้น บรรดาทรัพย์สินส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเงินสด ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่มีอยู่ในที่ดินบางแปลง ก็ต้องขึ้นทะเบียนเป็นราชพัสดุ และมีการจัดผลประโยชน์ตามระเบียบ วิธีการ ตามที่ทางราชการกำหนดไว้ทุกประการ จึงเป็นการไม่ตรงต่อความประสงค์และเจตนาของผู้บริจาค เพราะผู้ที่บริจาคเงินตลอดจนทรัพย์สินอื่นๆ ไห้แก่โรงพยาบาลสงฆ์นั้น ส่วนมากมักมีความเข้าใจ และสำคัญว่าโรงพยาบาลสงฆ์มีสภาพคล้ายกับเป็นวัดของพุทธศาสนา โดยมีพระสงฆ์สามเณรอาพาธอยู่พักเป็นประจำ ทั้งมีพระเถระเป็นจำนวนมากช่วยควบคุมดูแล เมื่อต้องการจะถวายความอุปถัมถ์บำรุงพระสงฆ์สามเณรอาพาธให้ได้รับความผาสุก และคลายความทุกข์ยาก อันเชื่อถือว่าเป็นบุญกุศลแก่ตน จึงได้บริจาคให้แก่โรงพยาล เพื่อโรงพยาบาลจะได้มีกำลังเพียงพอที่จะใช้จ่ายเป็นการช่วยเหลือ เกื้อกูลและบำบัดโรคพระสงฆ์สามเณรอาพาธด้วยความสะดวกสืบไป ซึ่งผู้ที่บริจาคและทรัพย์สินที่เป็นจำนวนค่าสูง ก็มักขอบริจาคโดยถวายแก่กรรมการสงฆ์โรงพยาบาลสงฆ์ โดยเฉพาะประธานและรองประธานกรรมการอำนวยการฝ่ายสงฆ์ เพราะมั่นใจว่าจะได้นำเงินและทรัพย์สินที่ตนบริจาคแล้วบำรุงพระสงฆ์สามเณรอาพาธอย่างแท้จริงทันที ครั้นต่อมาเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๐๖ ได้มีมติคณะรัฐมนตรี ให้กระทรวงทบวงกรม ช่วยกันรักษากรรมสิทธิ์ที่ดินราชพัสดุ พร้อมกับให้สำรวจรายการที่ดินที่มีส่งขึ้นทะเบียนราชพัสดุให้เป็นการเรียบร้อยโดยด่วน ฯลฯ โรงพยาบาลสงฆ์ซึ่งเป็นหน่วยราชการด้วยแห่งหนึ่งก็จำต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี แต่เมื่อได้นำความเรื่องนี้ถวายประธานคณะกรรมการอำนวยการฝ่ายสงฆ์ ของโรงพยาบาลสงฆ์เพื่อทราบ และพิจารณา ประธานคณะกรรมการอำนวยการฝ่ายสงฆ์ ฯ ได้พิจารณาแล้ว ได้บันทึกความเห็นว่า

“ผู้ที่บริจาคเงินและทรัพย์สินต่างๆ ให้แก่โรงพยาบาลสงฆ์นั้น มิได้มีเจตนาที่จะให้เป็นราชพัสดุ แต่ติดขัดด้วยพิธีการทางกฏหมาย โรงพยาบาลสงฆ์จึงมิอาจรับทรัพย์สินนั้นๆ ไว้ได้ จึงได้เพียงแต่ฝากให้กรมการแพทย์ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฏหมายแล้วรับมอบทรัพย์สินไว้แทนในนามโรงพยาบาลสงฆ์ จึงไม่เห็นด้วยในการที่จะเอาทรัพย์ซึ่งผู้บริจาคให้โรงพยาบาลสงฆ์ ไปขึ้นทะเบียนเป็นราชพัสดุ อันเป็นการขัดเจตนาโดยชัดแจ้งของผู้บริจาค” ฯลฯ

     นอกจากนั้น ประธานคณะกรรมการอำนวยการฝ่ายสงฆ์ของโรงพยาบาลสงฆ์ ยังได้บันทึกความเห็นเพิ่มเติมในตอนท้ายอีกว่า “ เห็นว่าบรรดาทรัพย์สินต่างๆ ที่มีผู้บริจาคให้แก่โรงพยาบาลสงฆ์นั้น ควรที่จะจัดตั้งเป็นมูลนิธิ เพื่อที่จะได้รับโอนทรัพย์สินต่างๆ ที่ฝากกรมการแพทย์ไว้นั้น มาเป็นของมูลนิธิเสียทั้งหมดโดยเร็ว หากจะมีการขัดข้องใดๆ เกิดขึ้น ก็ยินดีและพร้อมที่จะชี้แจงด้วยตนเอง ” ดังนี้

     นอกจากที่ประธานคณะกรรมการอำนวยการฝ่ายสงฆ์ฯ จะได้มีความเห็นดังยกมากล่าวแล้ว แม้คณะกรรมการทำนุบำรุงโรงพยาบาลสงฆ์ซึ่งได้ประชุมพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๐๗ ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ในเรื่องทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้โรงพยาบาลสงฆ์ว่า “ ให้โรงพยาบาลดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิขึ้นโดยขอรับความเห็นชอบและหลักการจากกระทรวงสาธาณสุขก่อน ”

     โรงพยาบาลสงฆ์จึงได้เสนอเรื่องโดยลำดับจนถึงกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอหารือเรื่องที่ตั้งมูลนิธิ และขอโอนเงินที่ผู้บริจาคตั้งเป็นทุนต่างๆ เพื่อบำรุงโรงพยาบาลสงฆ์ ในขณะนั้น ซึ่งมีอยู่จำนวน ๑๕,๖๖๖,๑๙๒.๑๒ บาท (สิบห้าล้านหกแสนหกหมื่นหกพันหนึ่งร้อยเก้าสิบสองบาทสิบสองสตางค์) กับที่ดิน รวมทั้งอาคารบ้านเรือนทั้งสิ้นที่มีผู้บริจาคให้กับโรงพยาบาลสงฆ์แล้ว โดยแต่เดิมกรมการแพทย์เป็นผู้รับมอบกรรมสิทธิ์ กลับคืนมาจัดตั้งเป็นทุนเริ่มแรกของมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์สืบไป ตามความเห็นของประธานคณะกรรมการอำนวยการฝ่ายสงฆ์ และคณะกรรมการทำนุบำรุงโรงพยาบาลสงฆ์

     กระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาเรื่องนี้โดยรอบครอบแล้ว มีความเห็นชอบด้วย จึงได้ติดต่อกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอโอนทรัพย์สินและที่ดินทั้งหมดที่มีผู้บริจาคที่มีผู้บริจาคให้โรงพยาบาลสงฆ์ตั้งแต่ต้นจนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ มาเป็นทุนเริ่มแรกการจัดตั้งมูลนิธิ ฯ เพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ และเงื่อนไขของผู้ที่บริจาคไว้ต่อไป และกระทรวงการคลัง ก็ได้พิจารณาเห็นชอบด้วย จึงอนุมัติให้ดำเนินการได้

     ต่อจากนั้น จึงได้เริ่มเตรียมการจัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ โดยเริ่มยกร่างตราสารมูลนิธิฯ เป็นครั้งแรก ประกอบด้วย หลวงประกอบนิติสาร นางธีรวัลย์ สุวรรณประเสริฐ นายแพทย์ใหญ่กรมการแพทย์ คือ นายแพทย์วิรัช มรรคดวงแก้ว และนายแพทย์สมพงษ์ ศิริภักดี ผู้อำนายการโรงพยาบาลสงฆ์ในสมัยนั้น รวม ๔ ท่าน แล้วได้เชิญท่านผู้ทรงคุณวุฒิทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาส ประชุมพิจารณาตรวจแก้ร่างตราสารจนเป็นที่พอใจและตกลงเรียบร้อย จึงได้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ และได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้จัดตั้งมูลนิธิสงฆ์โรงพยาบาลสงฆ์ได้ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๗ และได้รับอนุญาตจากจังหวัดพระนครเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๐๘ เลขหมายทะเบียนที่ ๓๘๕ โดยได้รับอนุญาติจากกรมการแพทย์ ให้ตั้งสำนักงานมูลนิธินี้ ที่ตึกคิลานเภสัชโรงพยาบาลสงฆ์ และในเวลาต่อมา กรมการแพทย์ได้ทำการโอนเงินทุน และทรัพย์สินทั้งสิ้นที่มีผู้บริจาคแก่โรงพยาบาลสงฆ์ ตามที่กล่าวแล้ว ให้มูลนิธินี้ รับไปดำเนิน เพื่อเป็นประโยชน์แก่โรงพยาบาลสงฆ์ ตามวัตุประสงค์แห่งตราสารต่อไป

     การจัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ ได้มีผู้เริ่มขอจัดตั้งตามระเบียบ รวม ๕ ท่าน คือนายแพทย์บุลศักดิ์ วัฒนผาสุก ประธานกรรมการโดยตำแหน่ง นายแพทย์ประเทือง สิงคาลวณิช รองประธานกรรมการโดยตำแหน่ง นายแพทย์วิรัช มรรคดวงแก้ว กรรมการ นายแพทย์สมพงศ์ ศิริภัคดี กรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง และเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาส วัดเชตุพนฯ กรรมการ

     ครั้นเมื่อได้รับอนุญาตให้จัดตั้งมูลนิธิแล้ว จึงได้อาราธนา และเชิญผู้มีกุศลจิตและทรงคุณวุฒิ เข้าเป็นกรรมการมูลนิธิ ฯ เพิ่มเติมจากกรรมการผู้ริเริ่มจัดตั้งมูลนิธิ ฯ อีก ๘ ท่าน คือ พระธรรมวโรดม วัดสังเวชวิศยาราม พระธรรมปาโมกข์ วัดผาติการาม พระเทพสุธี วัดเชตุพน ฯ พระธรรมกิตติโสภณ วัดเบญจมบพิตร พลเอกประยูร สุคนธทรัพย์ พันโทนิตย์ เวชชวิศิษฏ์ หลวงอรรถปรีชาชนูปการ และนางธีรวัลย์ สุวรรณประเสริฐ จึงมีจำนวนกรรมการมูลนิธิ ฯ ครั้งแรก รวมทั้งสิ้น ๑๓ ท่าน

     ภายหลัง ได้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการมูลนิธิ ฯ เพราะกรรมการบางท่านพ้นจากตำแหน่ง สิ้นพระชนม์ มรณภาพ และถึงแก่อนิจกรรม จึงได้อาราธนาพระเถระผู้ใหญ่ และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ มาเป็นกรรมการแทน จนครบจำนวน ดั่งได้ระบุรายนามไว้หลังเอกสารนี้แล้ว นอกจากนั้น ยังได้เชิญผู้มีเกียรติและอุปการคุณ มาเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ ฯ อีก ๓ ท่าน คือ พระบำราศนราดูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์บุลศักดิ์ วัฒนาผาสุก อดีตอธีบดีกรมการแพทย์ และนายแพทย์ชลวิชช์ ชุติกร อดีตรองอธิบดีกรมการแพทย์

     การที่ต้องแยกการเงินและทรัพย์สินต่างๆ ที่มีผู้บริจาคให้แก่โรงพยาบาลสงฆ์ มาตั้งเป็นมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ ก็ด้วยความจำเป็น และเหตุผลดังที่กล่าวแล้ว และมูลนิธิ ฯ กับโรงพยาบาลสงฆ์ก็ได้ร่วมมือประสานงานกันต่อมาด้วยดีตลอดมา เพราะมีเจตนาตรงกันในการที่จะช่วยเหลือเพื่อให้การบำบัดโรคแก่พระสงฆ์สามเณรอาพาธในโรงพยาบาลสงฆ์ เป็นไปด้วยความราบรื่น เรียบร้อย และเพื่อให้พระสงฆ์สามเณรอาพาธได้รับความผาสุก สะดวก เป็นที่ตั้ง ดังที่ได้กล่าวแล้ว ทั้งยังปรารถนาร่วมกันที่จะให้โรงพยาบาลได้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นสมตามความต้องการของรัฐบาล คณะสงฆ์ และสาธุชนทั่วไป

     ตามที่กล่าวมานี้ นับเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ต้องก่อตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ขึ้น และนอกจากนี้ใคร่ขอคัดเรื่อง “มูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์” ซึ่งพระบำราศนราดูรที่ปรึกษาคณะกรรมการ ฯ ท่านหนึ่งของมูลนิธินี้ ที่ได้กรุณาเขียนลงในสารสัมพันธ์ มูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ เมื่อปี ๒๕๐๘ นำลงทั้งเรื่อง เพื่อประกอบเหตุผลสนับสนุน ดังต่อไปนี้

     “ มูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ เกิดชึ้นจากความคิดเห็นของข้าพเจ้า ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างที่ผู้อำนวยการ เดินทางไปดูงาน ณ ต่างประเทศ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ครั้นเมื่อกลับมาแล้ว ข้าพเจ้าสั่งให้รีบดำเนินการ แม้กระนั้นต้องใช้เวลาเกือบ ๒ ปี กว่าจะสำเร็จได้

     การที่ข้าพเจ้าพยายามให้ตั้งมูลนิธิขึ้นนั้น ก็โดยความห่วงใยในเรื่องการเงินของโรงพยาบาลสงฆ์ เพราะนอกจากเงินงบประมาณแผ่นดินแล้ว ก็มีผู้ศรัทธาบริจาคเงินบำรุงและทรัพย์สินกันมากอยู่เรื่อยๆและหลายทาง เช่นเงินทอดผ้าป่าประจำปี เงินวันสงเคราะห์โรงพยาบาลสงฆ์ ซึ่งบอกบุญขอเรี่ยไรไปทั่วประเทศไทย เป็นต้น วันหนึ่งข้าพเจ้าไปนั่งฟังเทศน์อยู่ในโบสถ์ที่วัดแห่งหนึ่ง เมื่อพระท่านแสดงธรรมจบแล้ว ได้ยินท่านประกาศว่า วันนี้เป็นวันสงเคราะห์โรงพยาบาลสงฆ์ เชิญชวนให้บริจาคเงินบำรุงโรงพยาบาลสงฆ์ตามศรัทธาในวันนั้น วัดเกือบทั่วประเทศ คงปฏิบัติทำนองเดียวกัน ข้าพเจ้านึกต่อไปว่า หากเงินของโรงพยาบาลสงฆ์ บังเอิญมีด้วง แมง มาเบียดเบียน ต้องสูญเสียไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือโดยทางอ้อมก็ตาม เราจะต้องมีส่วนรับผิดชอบตามหน้าที่ด้วย ในฐานะเป็นเจ้ากระทรวง ซึ่งรัฐบาลมอบความไว้วางใจให้ควบคุมดูแล จะต้องถูกกล่าวหาว่าดูแลไม่ทั่วถึง และเราอาจมีส่วนรับบาปด้วยกระมัง เพราะเคยได้รับทราบจากเสียงกระซิบเข้าหูอยู่บ่อยๆ แต่ก็ยังไม่ใคร่เชื่อ และถามตัวเองว่า จะละเลยไม่คิดหาทางป้องกันไว้บ้างหรืออย่างไร ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงทำให้เกิดความคิดเห็นว่า ควรจะตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ขึ้น เพื่อความปลอดภัย และสั่งให้ดำเนินการตลอดมาจนเป็นผลสำเร็จ โรงพยาบาลสงฆ์เป็นสถาบันแห่งหนึ่ง ซึ่งพุทธศาสนิกชนถือเป็นแหล่งเนื้อนาบุญสำหรับบำเพ็ญกุศลด้วยศรัทธาปสาทะอย่างแรงกล้า ในการปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ตรัสได้ว่า การสงเคราะห์พระภิกษุอาพาธนั้น เท่ากับปฏิบัติต่อพระพุทธองค์ ได้บุญแรง ข้าพเจ้าคิดว่า เงินและทรัพย์สิ่งของ ตลอดจนดอกผลอันเกิดจากทุนสินอุปการะทั้งมวล ซึ่งมีผู้อุทิศให้แก่โรงพยาบาลสงฆ์หรือมูลนิธินั้น ตามความเห็นของข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะอนุโลมสงเคราะห์ว่าเป็นของสงฆ์ ตามบัญญัติแห่งพระวินัยได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นหากผู้ใดทำให้สูญเสียไปโดยเหตุใดๆอันไม่สุจริตคิดมิชอบ จะเป็นโดยทางตรง หรือทางอ้อมก็ตาม ผู้ที่มีเจตนา หรือมีส่วนร่วมในการกระทำเช่นนั้น จะต้องได้รับบาปหนักเป็นแน่นอน การสงเคราะห์ภิกษุผู้อาพาธได้บุญแรงเท่าใด เราเบียดเบียนทรัพย์สิ่งของสำหรับสงเคราะห์ภิกษุผู้อาพาธ ก็เป็นบาปหนักเท่านั้นเหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเกรงกลัวบาปกรรมในข้อนี้นักหนา ตามที่เคยได้รับการอบรมสั่งสอนมา เมื่อเป็นเด็กๆได้รับคำเตือนว่า ผลไม้ของวัดจะเป็นมะม่วงสักลูก กระท้อนสักใบ หรือดินทรายสักหนึ่งกะลา ก็อย่าพึงขโมยเก็บกินหรือนำไปใช้ จะต้องเป็นหนี้สงฆ์บาปกรรมติดตัวไป

      มูลนิธิ เป็นเพียงสถาบันที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ถึงจะมีตราสารกำหนดระเบียบไว้กวดขันอย่างใด ก็ขึ้นอยู่กับผู้รักษาระเบียบข้อบังคับ จะพึงปฏิบัติด้วยความบริสุทธิ์ใจตรงไปตรงมาเป็นสำคัญ เพราะแม้ว่าระเบียบข้อบังคับจะวางขึ้นใว้ป้องกันการเสื่อมเสียให้ดีสักเพียงใด ก็อาจมีช่องทางให้ผู้ที่มีใจไม่สุจริตคิดไม่ชอบแหวกระเบียบข้อบังคับได้บ่อยๆ อย่างที่เรียกกันว่า “เลี่ยงบาลี” เหตุนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบร่วมกันต่อมูลนิธิ ที่จะพึงบริหารกิจการ ใช้จ่ายทรัพย์สินของมูลนิธิให้เป็นเสมือนของสงฆ์ที่ว่า “ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้” เพื่อให้เป็นที่มั่นใจ และสมศรัทธา ของผู้บริจาคทั้งหลายว่า เงินทรัพย์สินสิ่งของที่เขาทำบุญนั้นได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตามกุศลเจตนาอันแรงกล้าของเขา ไม่มีด้วงแมงเบียดเบียน คอยอาศัยกินแต่ประการใด ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจงได้คุ้มครองมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ให้เจริญรุ่งเรือง และตั้งมั่นอยู่ควบคู่กับพระพุทธศาสนาตลอดไป

     จากข้อเขียนของท่านที่ปรึกษามูลนิธิ ฯ ดังที่ได้นำมาพิมพ์ลงให้ปรากฏแล้วนี้ จะเห็นได้ว่า ในขณะที่ท่านผู้เขียนได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเจ้ากระทรวงผู้บังคับบัญชาโรงพยาบาลสงฆ์ ท่านก็ได้พืจารณาและเล็งเห็นความจำเป็น ที่จะให้แยกทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้กับโรงพยาบาลสงฆ์ ตั้งเป็นมูลนิธิ นอกเหนือไปจากเพื่อให้ได้ถวายความสงเคราะห์แก่พระสงฆ์สามเณรอาพาธตามเจตนาของผู้บริจาคแล้ว ยังเป็นการป้องกันไม่ให้มีผู้เบียดเบียนทรัพย์สินประเภทนี้ของโรงพยาบาลสงฆ์ เท่ากับเป็นการแยกเอาทรัพย์สินซึ่งเสมือน “ของสงฆ์” มาบริหารและจัดการให้เป็นไปโดยชอบที่สุด ให้สมกับเป็น “ของสงฆ์” ตรงตามเจตนาของผู้ที่ศรัทธาบริจาคอุทิศอย่างแท้จริง

     มูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ จึงเป็นสถาบันที่ผู้มีความศรัทธาทั้งหลาย ให้ความชื่นชมและคลายความกังวลใจ เพราะคณะกรรมการของมูลนิธิ ฯ ซึ่งมีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ล้วนแต่พระเถรานุเถระและผู้ที่มีจิตเป็นกุศล ได้ร่วมกันบริหารงานของมูลนิธิแห่งนี้ตามวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สุขแก่พระสงฆ์ สามเณรอาพาธเป็นที่ตั้งตลอดไปทุกประการ

พื้นที่ให้เช่า เพื่อรอการพัฒนา

ข้อมูลการติดต่อ

  • 445 ถนนศรีอยุธยา แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กทม 10400

  • 0-2354-4278

  • เวลาทำการ : จันทร์-ศุกร์ เวลา 08:30-16:30, เสาร์ - อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08:00-16:00

แผนที่การเดินทาง